หน้าใหม่

เปลี่ยนท่า หน้ามืดบ่อย เช็กหน่อย...ความดันต่ำขณะเปลี่ยนท่าอันตรายไหม

รู้สึกวูบตอนลุก-นั่ง เร็ว ๆ หรือก้มหน้าแล้วเวียนหัว โดยเฉพาะตอนเปลี่ยนท่ามักจะหน้ามืด ต้องเช็กร่างกายคร่าว ๆ เราเป็นโรคอะไรร้ายแรงหรือเปล่า

สำหรับคนที่มีอาการวิงเวียน บ้านหมุน หน้ามืด หรือเหมือนจะเป็นลม ขณะเปลี่ยนอิริยาบถ โดยเฉพาะตอนนอนอยู่แล้วลุกจากเตียงแบบเร็ว ๆ ต่อมาก็เกิดอาการหน้ามืด วูบ คล้ายจะเป็นลม หรือในบางคนอาจมีภาวะใจสั่น หัวใจเต้นเร็วขึ้นบ้างในบางครั้ง คงเกิดความสงสัยในสุขภาพของตัวเองขึ้นมาโดยพลันว่าเรากำลังมีโรคร้ายอย่างโรคหัวใจขาดเลือด หรือโรคความดันต่ำอยู่หรือเปล่า

ทว่าความจริงแล้ว ภาวะเปลี่ยนท่าแล้วเกิดอาการวิงเวียน ทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า ภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า ซึ่งวันนี้จะพามารู้จักความผิดปกติของร่างกายที่เกิดขึ้นบ่อยในหลายคน แถมบางคนยังเกิดอาการนี้บ่อยครั้งกันค่ะ

โรควูบ

รู้จักภาวะความดันต่ำขณะเปลี่ยนท่า คืออะไร

ภาวะความดันต่ำขณะเปลี่ยนท่า หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Postural or Orthostatic Hypertension เป็นความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิตเมื่อมีการเปลี่ยนท่าที่ฝืนต่อแรงโน้มถ่วงของโลก อธิบายง่าย ๆ ก็คือ โดยปกติแล้วหัวใจเราจะปั๊มเลือดไปเลี้ยงสมองในอัตราคงที่และสม่ำเสมอ หัวใจจะบีบตัวช้า ๆ ไม่ต้องทำงานหนัก แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างทันทีจนส่งผลให้ศีรษะกับหัวใจอยู่คนละระนาบกัน เช่น การนอนอยู่แล้วลุกขึ้นมากะทันหัน นั่งนาน ๆ แล้วผุดลุกขึ้นเร็ว ๆ หรือก้มหน้ากะทันหัน ระบบไหลเวียนเลือดก็ต้องปรับตัวเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงสมองให้ทัน ซึ่งในบางครั้งการเปลี่ยนจากท่านอนเป็นท่านั่ง เลือดจะไหลลงสู่ด้านล่างตามแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้ร่างกายดึงเลือดกลับไปเลี้ยงสมองไม่พอ ความดันเลือดต่ำทันที และส่งผลให้เกิดอาการวิงเวียน หน้ามืด เหมือนจะเป็นลมได้

โดยนอกจากอาการหน้ามืดแล้ว บางคนอาจมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วขึ้น เนื่องจากหัวใจกำลังพยายามปรับตัวและทำการสูบฉีดเลือดกลับเข้าสู่หัวใจเพื่อนำไปหล่อเลี้ยงสมองให้เร็วที่สุด ซึ่งภาวะความดันตกขณะเปลี่ยนท่านี้ เป็นกระบวนการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติตามปกติ และร่างกายจะเข้าสู่ภาวะปกติได้เมื่อระบบประสาทอัตโนมัติเกิดความสมดุล ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้อย่างสม่ำเสมอ และเพียงพอต่อความต้องการของสมอง

นั่นจึงเป็นคำตอบว่า เวลาก้มหน้าแล้วหน้ามืด หรือหันเร็ว ๆ แล้วเวียนหัว อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีอาการวูบนาน ๆ ซึ่งก็ถือว่าภาวะนี้ไม่อันตรายต่อสุขภาพเท่าไรค่ะ เว้นเสียแต่ว่า เกิดอาการหน้ามืดแล้วล้มลงศีรษะฟาดพื้น หรือเกิดอาการวูบในกรณีที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยง ๆ อย่างริมถนน กำลังขับรถ หรือทำงานกับเครื่องจักรบางชนิด เป็นต้น

โรควูบ

ภาวะความดันต่ำขณะเปลี่ยนท่า ใครเสี่ยง ?

จริง ๆ แล้ว หากมีการเปลี่ยนท่าอย่างรวดเร็ว ทุกคนก็มีโอกาสเจอภาวะนี้ได้ แต่อาจมีคนบางกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าเพื่อน เช่น

- ผู้สูงอายุ

- ผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจ เช่น รายที่มีการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจล้มเหลว

- ผู้ป่วยโรคทางสมอง หรือระบบประสาท เช่น พาร์กินสัน โรคปลายประสาทอักเสบ

- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เพราะเส้นประสาทที่ส่งสัญญาณการควบคุมความดันโลหิตเสียการทำงานจากพยาธิสภาพของโรค

- ผู้ที่มีอาการความดันโลหิตต่ำ

- ผู้ที่มีปัญหาของต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมไทรอยด์หรือต่อมหมวกไตทำงานไม่มีประสิทธิภาพ

- มีภาวะขาดน้ำ เช่น คนที่ดื่มน้ำน้อย, เจอภาวะอากาศร้อนทำให้สูญเสียน้ำมาก, ทำงานกลางแจ้ง, เล่นกีฬาจนเสียเหงื่อมาก, สูญเสียน้ำจากอาการท้องเสียอย่างรุนแรง อาเจียน ฯลฯ

- ผู้ที่ดื่มสุราเรื้อรัง

- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น การกินยารักษาความดันโลหิตสูง ยานอนหลับ ยารักษาโรคทางจิตเวชบางชนิด
โรควูบ

ป้องกันได้ไหม ถ้าไม่อยากเปลี่ยนท่า หน้ามืด ?

อย่างไรก็ตาม อาการเปลี่ยนท่าแล้วหน้ามืดก็มีวิธีป้องกันไม่ให้ร่างกายตกอยู่ในสภาพดังกล่าวนะคะ โดยมีวิธีปฏิบัติตัวตามนี้เลย

* เคลื่อนไหวร่างกายอย่างช้า ๆ ไม่รีบร้อนจนเกินไป โดยเฉพาะในผู้สูงอายุซึ่งระบบไหลเวียนเลือดอาจมีประสิทธิภาพลดลงกว่าวัยหนุ่มสาว

* ดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดมีความคล่องตัวมากขึ้น

* ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอบ่อย ๆ อย่างน้อยวันละ 30 นาทีขึ้นไป จะช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดและหัวใจแข็งแรงขึ้น

- คาร์ดิโอ วิธีออกกำลังกายดี ๆ ได้ทั้งฟิต แอนด์ เฟิร์ม กระตุ้นหัวใจให้แข็งแรง

* รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ตามหลักโภชนาการที่ดี โดยเฉพาะเพศหญิงควรต้องกินอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เพราะผู้หญิงมีโอกาสสูญเสียธาตุเหล็กในร่างกายมากกว่าเพศชาย เช่น การมีประจำเดือน หรือการตั้งครรภ์ ซึ่งเลือดจะถูกส่งไปเลี้ยงทารกในครรภ์เพิ่มขึ้น

- อาหารบำรุงเลือด กินอย่างนี้สิป้องกันภาวะโรคโลหิตจาง

* หากภาวะความดันต่ำขณะเปลี่ยนท่าเกิดจากการใช้ยา อาจปรึกษาแพทย์เพื่อลดขนาดยาลง

อย่างไรก็ตาม หากใครยังข้องใจในอาการวูบของตัวเอง เกรงว่าจะส่อโรคร้ายแรงที่ควรต้องรีบรักษาหรือไม่ ลองมาเช็กสาเหตุของโรควูบดูก็ได้นะคะ

- 10 สาเหตุโรควูบ อาการหน้ามืดเป็นลมที่อาจถึงตาย !

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์