ในปัจจุบัน โรคอัลไซเมอร์ หรือ โรคสมองเสื่อม ได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากมีการตรวจพบผู้ป่วยโรคนี้ค่อนข้างมาก และอาการของโรคนั้นก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานใจต่อผู้ป่วยและผู้ดูแล อีกทั้งยังไม่มียารักษาโรคได้นอกจากการรักษาเพื่อประคับประคองตามอาการ อย่างไรก็ตาม อาการของโรคอัลไซเมอร์นั้น มีข้อบ่งชี้ที่คนใกล้ชิดสังเกตเห็นได้ และการสังเกตพบอาการของโรคตั้งแต่เนิ่นจะส่งผลดีต่อการรักษาอย่างมาก เราทุกคนจึงไม่ควรมองข้าม แต่ควรหันมาใส่ใจ ทำความรู้จักกับเจ้าโรคใกล้ตัว อย่างอัลไซเมอร์กันสักหน่อย
โรคอัลไซเมอร์ คือ อะไร
อัลไซเมอร์ เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมองที่ระบบสารสื่อประสาท (NEURO TRANSMITTER) ซึ่งเป็นตัวสื่อสารนำข้อมูลจากสมองไปยังอวัยวะต่างๆผิดปกติ โดยส่วนใหญ่พบว่าผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ที่มีอาการอัลไซเมอร์นั้น มีภาวะที่สารอะเซติลโคลีน (ACETYLCHOLINE) ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับการจดจำ การใช้เหตุผล และการควบคุมอวัยวะต่างๆ ของมนุษย์ ลดลงจนส่งผลกระทบต่อสมอง ทำให้เกิดปัญหาต่อการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน เช่น หลงลืม สับสน ขาดความทรงจำ
อย่างไรก็ตาม อัลไซเมอร์มีอาการของโรคที่สามารถสังเกตตนเองและคนรอบข้างได้เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที โดยมีข้อสังเกตอาการที่น่าสนใจดังนี้
7 อาการบ่งชี้ โรคอัลไซเมอร์ที่คุณไม่ควรมองข้าม
- หลงลืมเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้น หรือหลงลืมกิจวัตรประจำวัน หากคุณหรือคนรอบข้างมีภาวการณ์ลืมที่มากกว่าปกติ เช่น ลืมเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้นหรือผ่านไปเพียงไม่นาน ลืมสิ่งที่ทำจนเป็นกิจวัตรประจำวัน หรือเกิดความรู้สึกว่าการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันกลายเป็นเรื่องยาก เช่น การลืมผูกเน็คไท ลืมการผูกเชือกรองเท้า
- สับสนเวลา สถานที่ หรือลำดับเหตุการณ์ ภาวการณ์สับสนนี้ เกิดจากสมองสูญเสียความทรงจำ ทำให้ความทรงจำเว้แหว่ง จึงไม่สามารถเรียงลำดับเหตุการณ์ก่อนหลังได้ ทำให้การเล่าเรื่องไม่ปะติดปะต่อ สลับหน้าสลับหลัง หรืออาการ สับสนเรื่องเวลา เช่น นั่งรอแค่ 10 นาทีก็คิดว่านั่งรอมาหลายชั่วโมงแล้ว เป็นต้น
- ตัดสินใจยาก ทำอะไรก็ลำบากใจไปหมด เนื่องจากสมองในส่วนการใช้เหตุผลถูกทำลาย ทำให้เกิดความรู้สึกตัดสินใจอะไรไม่ได้ ขาดเหตุ ขาดผล ในการตัดสินใจ รู้สึกลังเล และไม่เป้ฯตัวของตัวเอง
- มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร นึกคำ หรือคิดหาทำแทนความรู้สึกไม่ค่อยได้ โดยเฉพาะการใช้คำพูด คิดไม่ออกว่าจะใช้คำอะไร จะพูดว่าอะไร คล้ายกับว่าคลังศัพท์ในสมองหายไป ไม่สามารถอธิบายหรือสื่อสารเป็นคำพูดได้ตรงกับใจ
- ลืมของในที่ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ สับสนในการจัดวางข้าวของ จัดวางของผิดที่ผิดทาง อย่างไม่น่าเป็นไปได้ในสถานการณ์ปกติ เช่น เอากระเป๋าเงินไปใส่ไว้ในตู้กับข้าว เอานาฬิกาไปใส่ไว้ในตู้เย็น เป็นต้น
- ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หงุดหงิด ฉุนเฉียวเนื่องจากความสามารถในการสื่อสารและการควบคุมตนเองลดลง ทำให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิด ฉุนเฉียวได้ง่าย จนแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา อาจจะพูดหรือทำในสิ่งที่ปกติจะไม่พูดหรือไม่ทำ ขาดความคิดยั้งใจ ขาดความสามารถในการตัดสินใจ
- ย้ำคิดย้ำทำ ทำแล้วคิดว่าไม่ได้ทำ เกิดความวิตกกังวล คิดวกวน สับสนและหลงลืมแม้ในสิ่งที่เพิ่งทำไป เช่น ทานข้าวแล้วก็บอกว่าไม่ได้ทาน หลานเพิ่มมาเยี่ยมก็บอกว่าไม่ได้มา ได้รับของแล้วก็บอกว่าไม่มี เป็นต้น
หากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีความผิดปกติอย่างเห็นได้ชัดที่เกี่ยวกับอาการของโรคอัลไซเมอร์ดังกล่าวข้างต้น ก็ไม่ควรที่จะมองข้ามหรือนิ่งนอนใจนะคะ แต่ควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยวินิจฉัยอย่างจริงจัง และสำหรับผู้ที่ยังไม่พบอาการดังกล่าว โรคอัลไซเมอร์สามารถป้องกันได้ด้วยการฝึกใช้สมองเป็นประจำ หมั่นออกกำลังกาย และการเลือกบริโภคอาหารที่สามารถช่วยป้องกันหรือชะลอการเกิดโรค เช่น วอลนัล ปลาแซลมอน ผลไม้ตระกูลเบอร์รี ผักใบเขียว กาแฟ เป็นต้น